สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ผลักดันป่าลุ่มน้ำอิง 8 พันไร่ขึ้นทะเบียนแรมซ่าไซท์ หวั่นถูกรุกราน ชาวบ้าน-เครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ผวจ.เชียงรายรับลูกตั้งกก.พิจารณาเสนอครม.

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่บริเวณป่าชุ่มน้ำบ้านงามเมือง อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย และหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง โฮงเฮียนแม่น้ำของ สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่างและบ้านงามเมือง ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความความเข้าใจ “วันพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง ( Ing Wetland day, Wetland We Care)l ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี และลงนามกรอบปฏิญญาลุ่มน้ำอิง”การจัดการลุ่มน้ำอิงกับการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อประกาศเจตนารมณ์และส่งมอบความห่วงใยต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง และร่วมแสดงพลังให้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขของอนุสัญญาแรมซ่าร์

ภายในงานได้มีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับลุ่มน้ำอิง การประกวดภาพวาดเด็กนักเรียน การแข่งขันทำอาหารจากทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำอิง รวมทั้งเวทีเสวนา “พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงกับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ”

ทั้งนี้ป่าริมน้ำอิง หรือ ป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง มีความเป็นเอกลักษณ์นิเวศป่าชุ่มน้ำหนึ่งเดียวในภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ 4.5 ล้านไร่ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า ที่รวมเป็นลุ่มน้ำอิงตลอดความยาว 260 กิโลเมตรที่ไหลผ่านจังหวัดพะเยาและเชียงรายลงสู่แม่น้ำโขง และเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศผืนเดียวกันกับแม่น้ำโขง ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาคพบว่า มีความหนาแน่นและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำ ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ป่า นก สามารถนำเสนอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ

นายเตชภัฒน์ มะโนวงศ์ เลขาธิการาสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง กล่าวว่าเราต้องการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำเพราะมีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้าน เราพยายามสร้างแหล่งเรียนรู้ตลอดลุ่มน้ำอิงและวางเป้ายุทธศาสตร์พื้นที่ชุ่มน้ำอิงเพราะนับวันพื้นที่เหล่านี้จะถูกบุกรุกมากขึ้น


นายเตชภัฒน์กล่าวว่า สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงได้ทำการสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำอิงพบว่า ในแต่ละปีจะมีปลาว่ายมาวางไข่ในพื้นที่เหล่านี้ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาหารของคนน้ำอิง 8 แสนคน และมีปลากินตลอดขอแค่รักษาไว้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเงินทอง พื้นที่ชุ่มน้ำจึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจชุมชน และเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เราพยายามผลักดันให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการจดทะเบียนให้ได้รับการรับรองตามกฏหมายเพราะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงถูกรุกราน บางครั้งก็เป็นแหล่งหยิบฉวยให้พัฒนาไปในแนวทางอื่น ดั้งนั้นพื้นที่ทั้งหมด 17 ป่าชุ่มน้ำจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ให้ได้รับความคุ้มครอง

นายวิชาญ ภิวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก กล่าวว่าในพื้นที่หมู่บ้านได้ขึ้นทะเบียนป่าหวงห้ามซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประมาณ 2 พันไร่ตั้งแต่ปี 2500 โดยระบุว่าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ จนปี 2510 ชาวบ้านได้แผ้วถาง ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐได้ออกเอกสารสิทธิให้โดยที่ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้อง และมีนายทุนได้กว้านซื้อที่ดินขายให้กับบริษัทซีพีและต่อมาได้มีการจัดการพื้นที่โดยเอาต้นไม้ทิ้งน้ำทั้งๆที่เมื่อก่อนเป็นพื้นที่ชั้นยอดหรือแหล่งทำกินของหมู่บ้าน ขณะนี้ชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือถึงทางการเพื่อขอให้พื้นที่ดั้งกล่าวกลับไปเป็นเป็นพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง

นายสุทธิ มะลิทอง นักวิชาการจากสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีเกณฑ์พิจารณา 8 ข้อ เช่น เป็นพื้นที่พิเศษอย่างไร อย่างกรณีลุ่มน้ำอิงเมื่อถึงหน้าฝนก็จะมีน้ำท่วมสูงในป่าเหล่านี้ ซึ่งในภาคเหนือเหลือแค่แม่น้ำอิง และจากการสำรวจยังพบสัตว์กว่าร้อยชนิดซึ่งเยอะมาก แถมยังเจอสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือปลา นากใหญ่ และยังพบนกอพยพอย่างน้อย 36 ชนิด ซึ่งจริงๆแล้ว หากเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถขึ้นทะเบียนได้แล้ว แต่ลุ่มน้ำอิงอยู่ในเกณฑ์ถึง 5 ข้อ

นายสมเกียรติ์ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าปี 2540 แม่น้ำอิงเกิดสภาวะวิกฤต ทั้งปริมาณน้ำลดลงและพื้นที่ถูกรุกรานจนแทบหาปลาไม่ได้ จึงได้มีการตกลงทำเขตอนุรักษ์นำร่องที่บ้านน้ำแพร่ หลังจากนั้นเห็นผลและนำไปสู่การขยายผล พอมาถึงวันนี้เรากำลังพูดถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งตอนแรกชาวบ้านไม่เข้าใจเพราะไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะเหมือนป่าอนุรักษ์ต่างๆ แต่พื้นที่เหล่านี้พิเศษคือชาวบ้านยังสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในแม่น้ำอิงเหลืออยู่ 17 แปลง กว่า 8 พันไร่ เป็นพื้นที่สุดท้ายในลุ่มน้ำอิงที่ชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์ หากได้ขึ้นทะเบียนก็จะมีมาตรการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหลายชั้นขึ้น แต่เรายังไม่สามารถเสนอได้ทั้ง 17 แปลง แต่สามารถเสนอได้อย่างน้อย 4 แปลง

“เราได้เสนอเรื่องความหลากหลายไปที่จังหวัด ตอนนี้ได้มีคำสั่งจากผู้ว่าราชการในการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาดูแลซึ่งเป็นความก้าวหน้าในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชน หลังจากนี้สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงก็จะเสนอพื้นที่ไปยังที่ประชุมคณะกรรมการฯ หากคณะกรรมการฯเห็นด้วยก็เสนอต่อไปที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี”นายสมเกียรติ์ กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำนั้น มีทั้งปัญหาภายในและภายนอก โดยภายในเกิดจากชุมชนเอาพื้นที่มาแบ่งปันและเปลี่ยนสภาพจากป่าให้เป็นสวนเกษตรหรืออาคารก่อสร้างเพราะยังไม่รู้ว่าป่ามีความสำคัญอย่างไร ขณะเดียวกันได้เกิดจากนโยบายของรัฐที่ต้องการพัฒนาแต่ไม่เข้าใจพื้นที่และเป็นการพัฒนาที่ไม่สาเหตุสมผลเนื่องจากไม่มีความรู้ เช่น การก่อสร้างบนพื้นที่ชุ่มน้ำทำให้พื้นที่เสียหาย หรืออย่างกรณีป่าบ้านบุญเรืองที่รัฐพยายามเอาไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือเรื่องการจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งซึ่งทุกรัฐบาลต่างเผชิญปัญหา ที่ผ่านมาพื้นที่ชุ่มน้ำถูกกระทำอย่างหนักเพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน แม้เป็นพื้นที่สาธารณะแล้วก็ยังถูกเอาไปเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์มหาศาล เป็นนิเวศเศรษฐศาสตร์ หากรัฐบาลไม่เข้าใจและออกนโยบายพัฒนาพื้นที่แบบนี้ก็จะเกิดปัญหา ผมคิดว่าส่วนที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาสังคมเพราะสามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้ เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนพื้นที่ลุ่มน้ำนั้น ส่วนท้องถิ่นสำคัญ”นายนิวัฒน์ กล่าว

น.ส.รัชดาภรณ์ บุญสาระวังผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 1 กล่าวว่าหลายโครงการที่ภาครัฐเข้าไปผลักดันสำเร็จน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ แต่ถ้าให้ชาวบ้านทำแล้วหน่วยราชการหนุนเสริมจะไปได้ดี ซึ่งสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงมียุทธศาสตร์ที่น่าสนใจมากและยินดีหนุนเสริม

นายวุฒิกร คำมา อำเภอขุนตาล กล่าวว่า น่าชื่นชมชาวบ้านที่ร่วมกันอนุรักษ์และผลักดันซึ่งดีกว่าภาคราชการทำ เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนที่นี่ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐนั้น การพัฒนาย่อมเกิดขึ้น แต่ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น เราจึงมีกระบวนการประชาคมคือให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่ภาคราชการเองก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย การผลักดันให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเชื่อว่าไม่มีภาคราชการคัดค้าน

นายอำโพน อโนราช นายกเทศมนตรีตำบลยางฮอม กล่าวว่า แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็งไม่เท่ากัน แต่ความอยากของคนนั้นไม่สิ้นสุด ลำน้ำอิงจากพะเยามาถึงเชียงของมีถนนกั้นขวางลำน้ำหลายแห่งทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปีจนรัฐต้องเสียงบประมาณจ่ายค่าชดเชยทุกปี ซึ่งในเบื้องต้นควรกันป่าให้เป็นเขตพื้นที่สาธารณะไว้ก่อน ซึ่งสมัยก่อนมีผู้นำเอาพื้นที่สาธารณะไปขาย แต่วันนี้จะเอาคืนยากมาก ดังนั้นชุมชนต้องร่วมกัน

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →