เรื่อง/ภาพ โดยปิยนันท์ จิตต์แจ้ง
“ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เกาะแก่งหินผากำลังโผล่ขึ้นมา จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ ที่จะต้องมีการสำรวจในเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวกับเรื่องเกาะดอนต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับหลายเรื่องทั้งที่วางไข่ของนก เรื่องขยะ เรื่องพื้นที่จกไก นิเวศน์ฤดูแล้ง ที่จะได้รับผลกระทบน้ำเท้อ น้ำไม่ไหล” ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เล่าระหว่างการนำทีมรักษ์เชียงของ โฮงเฮียนแม่น้ำโขง และอาสาสมัคร จำนวน 13 คน ออกสำรวจแม่น้ำโขง โดยการพายเรือคายัคจำนวน 8 ลำ ตั้งแต่ปากน้ำกก จนถึงแก่งผาได ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม 2566 “ช่วงฤดูหนาวที่ระดับน้ำจะลดลง ทำให้เห็นระบบนิเวศน์ในฤดูแล้งได้ชัดเจน”
ท่ามกลางเปลวแดด เรือลำน้อยๆ กลุ่มเล็กๆ ล่องไปตามลำโขง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความยิ่งใหญ่ของสายน้ำแห่งนี้ มนุษย์ก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่มาเยือนโลกใบนี้ในช่วงสั้นๆแต่สามารถทำลายล้างธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่มีวิวัฒนาการยาวนานให้ย่อยยับได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แม่น้ำโขงก็เช่นกัน เพียงไม่กี่ทศวรรษก็ถูกทำลายจนปางตายโดยเฉพาะจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เขื่อน” จนวันนี้เหลือเพียงลมหายใจแผ่วเบา
“สถานการณ์แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แล้วยังจะมีการสร้างเขื่อนปากแบงอีก ผลกระทบจะมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องระดับน้ำ ที่จะเกิดน้ำเท้อ กระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆมากมาย ทั้งพืชและสัตว์” ครูตี๋เห็นถึงภัยร้ายที่คุกคามนิเวศแม่น้ำโขงเรื่อยมาและพยายามลุกขึ้นมาปกป้อง
เมื่อวันที่ 13 กันยายนในปีที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามรับซื้อไฟฟ้าจากผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนปากแบง อันจะทำให้ขั้นตอนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงเริ่มนับหนึ่งเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้านมากมายของคนเล็กคนน้อยที่ได้รับผลกระทบ และคนที่ต้องการปกป้องแม่น้ำโขง แต่วงจรอุบาทว์โครงสร้างเศรษฐกิจทุนขนาดใหญ่และอำนาจรัฐของแต่ละประเทศที่มองข้ามและเพิกเฉยต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงหลายล้านคนที่อาศัยระบบนิเวศและพัฒนาวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติที่สมดุลถูกทำลายแบบอย่างไม่รามือ ไม่สนใจการทำลายความสมดุลธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่แม่น้ำแห่งนี้ที่เป็นรองเพียงแม่น้ำอเมซอน ขณะที่วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำแห่งนี้หลากหลายกว่าผู้คนหลายประเทศอาศัย
การพายเรือคายัคสำรวจแม่น้ำโขงครั้งนี้เป็นระยะกว่า 80 กิโลเมตร โดยเริ่มตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จนถึง แก่งผาได ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
การที่เริ่มต้น ณ จุดนี้เนื่องจากต้องการเห็นสภาพนิเวศบริเวณปากแม่น้ำกกที่ไหลสู่แม่น้ำโขงที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ในปัจจุบัน ที่เกาะดอนต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-ลาว เกิดข้อพิพาทเป็นระยะ และมีการยื่นคำร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความชัดเจน และเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้
เกาะช้างตาย เป็นเกาะดอนเล็กๆริมแม่น้ำโขงที่ติดกับฝั่งไทยพื้นที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน เดิมทีพื้นที่นี้เชื่อมต่ออยู่กับแผ่นดินไทย และในหน้าแล้งชุมชนได้ใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมงานประเพณีต่างๆ มาตั้งแต่ครั้นบรรพบุรุษ แต่เมื่อมีการสร้างท่าเรือพาณิชย์ ทำให้มีการขุดร่องน้ำ สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นเกาะ แต่ก็อยู่ชิดติดกับฝั่งไทย
การพายเรือสำรวจครั้งนี้พบว่า ยังมีการเลี้ยงวัวอยู่บนเกาะช้างตาย โดยวัวฝูงใหญ่ได้ออกมาเดินบริเวณริมหาดที่ยื่นออกมาทางปากน้ำกก ขณะที่ชาวบ้านย่านนั้นบอกว่าเจ้าของฝูงวัยเหล่านั้นเป็นคนลาว ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังทางการไทยตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงฝ่ายความมั่นคงประเทศ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และให้แก้ไขปัญหานี้ แต่เรื่องยังคงเงียบหายไป ด้วยเหตุผลบ่ายเบี่ยงว่า “เกรงกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จึงทำให้ปัญหายืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ขณะที่หัวอกของชาวบ้านสบกกทางการกลับไม่ได้รับการใส่ใจ
เช่นเดียวกับเกาะมโนที่เป็นเกาะใหญ่ เราสามารถมองเห็นแพะอยู่บนเกาะเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่คนไทยข้ามไปทำการปลูกพืชและใช้ประโยชน์ได้ แต่ปัจจุบันกลับมีเฉพาะคนลาวที่ข้ามไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ โดยคนไทยไม่สามารถขึ้นไปได้
คำถามที่ดังๆคือการที่พรมแดนยังไม่มีความชัดเจน การสร้างเขื่อนปากแบงทำให้น้ำเท้อท่วมเกาะแก่งต่างๆมากมาย ร่องน้ำโขงเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจะรับมือนี้อย่างไร ผืนแผ่นดินจะต้องสูญเสียไปอีกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยังไม่มีการศึกษาใดๆ กรณีเกาะช้างตายและเกาะมโน เป็นตัวอย่างของข้อพิพาทที่อาจทำให้บานปลายได้โดยง่าย
ระหว่างทางเรายังพบเห็นการขุดหิน ดิน ทราย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง และบริเวณภูเขาที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ทั้งยังมีโรงโม่หิน กระจายตั้งอยู่
“ตลอดเส้นทางผ่านเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น กรณีมีปัญหาเรื่องเกาะช้างตาย ซึ่งได้เห็นแล้ว เป็นที่สังเกตว่าที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกาะดอนต่าง ๆ ถูกรบกวนโดยสัตว์เลี้ยง การนำสัตว์เลี้ยง วัว และแพะ ไปเลี้ยงย่อมมีผลกระทบต่าง ๆ มีผลต่อระบบนิเวศเดิม อันเป็นที่ นกต่าง ๆ ที่มาวางไข่ ในฤดูแล้ง ถูกรบกวนด้วยสัตว์เลี้ยง เกาะดอนก็เหมือนป่าที่มีการบุกรุกทำให้ประโยชน์พื้นที่ต่อระบบนิเวศเปลี่ยนไป นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราพบเห็นในขณะนี้ ” ครูตี๋กล่าว
ก่อนจะถึงที่พักวันแรก ทางทีมสำรวจได้พบปลาตะเพียนขนาดใหญ่ตายลอยน้ำ เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงคือการช็อตปลาหรือระเบิดปลา ที่ยังคงเกิดขึ้นจากบางคนบางกลุ่ม
เย็นย่ำค่ะทีมเรือคายัคมาถึงจุดค้างแรมในค่ำคืนแรกที่หาดร้องฟาน ซึ่งเป็นหาดทรายสลับแก่งหินสวยงาม เราพบรอยตีนนกและยามเช้าเราได้เห็นรอยตีนนากบริเวณพื้นที่ริมน้ำ แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงยังพอเป็นที่พึ่งพาของสัตว์มากมาย
ในค่ำคืนบนหากร้องฟานก็เปลี่ยนไปจากที่เคยมาค้างแรมอันเป็นที่เงียบสงบท่ามกลางสายน้ำ สายลม และอากาศหนาวเย็น แม้หาดยังคงสวยงาม ฟ้ามืดที่เห็นดาวเต็มท้องฟ้า ห่างไกลชุมชน แต่ที่นี่ไม่เงียบเหมือนแต่ก่อน ด้วยตรงฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามเป็นที่ตั้งโรงโม่หินทำให้มีรถพ่วงบรรทุกหินรับส่งหินที่โรงโม่แห่งนี้ กว่าโรงโม่หินจะหยุดทำการก็ล่วงเข้าเวลาเที่ยงคืน
“การสำรวจครั้งนี้เรายังพบขยะลอยตามน้ำมามากมาย ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ ขยะมีหลากหลาย ที่สำคัญเป็นขยะพลาสติก และขวดแก้ว บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทใหญ่ ๆ ถุงดำที่เป็นถุงบรรจุขยะมีให้พบเห็นเป็นระยะ ขยะมีทั้งฝังแน่นในหาด และเกาะติดตามต้นไม้ กิ่งไม้ บริเวณเกาะดอน และริมฝั่งมีทั้งขยะเก่าที่เปื่อยยุ่ยทับถม และขยะใหม่ที่เข้ามาใหม่ก็ยังพบเห็นเป็นประจำ”
ในวันที่ 2 เราได้พบเห็นวิถีคนริมน้ำที่ยังคงมีอยู่ในทุกปีในหน้าแล้งที่น้ำลด คนเก็บไกฝั่งลาวโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำงาว มีคนเก็บไกทุกช่วงวัย พ่อเฒ่า แม่เฒ่า ที่มีลูกสาวโดยพ่อแม่วัยกลางคนก็จะมีลูก ๆ เด็กน้อยตามมาเล่นอยู่ริมฝั่งขณะพ่อแม่กำลังง่วนกับการเก็บไก บริเวณเกาะดอนกลางแม่น้ำโขงหลายจุดมีทั้งคนไทยและคนลาว สามารถเก็บไกได้ ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาการใช้ประโยชน์ร่วมกันในหลายชุมชน ก็ยังคงอยู่ ฝั่งไทยจะเห็นคนเก็บไกมากบริเวณ บ้านเมืองกาญจน์ หาดไคร้ โจ้โก้
“หากมีน้ำเท้อจากเขื่อน หรือน้ำไหลช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อไก นอกจากนี้น้ำยังท่วม เกาะแก่ง หาดดอนที่พบเห็นเกือบทั้งหมด และหาดที่เคยถูกใช้จัดงาน ใช้เป็นที่พักผ่อนในหน้าร้อน เช่น ดอนมหาวัน ที่บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ ก็คงหายไปตลอดกาล” ผลจากการล่องเรือทำให้ครูตี๋ได้ข้อสรุปอีกหลายประการ
หาดดอนมหาวันที่ครูตี๋พูดถึงเป็นหาดริมแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงของ หาดแห่งนี้โผล่ให้เห็นเฉพาะฤดูแล้งหลังจากน้ำลด ที่สำคัญคือชาวบ้านได้อาศัยพื้นที่หาดแห่งนี้ทำกิจกรรมสันทนาการมากมาย แต่หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง หาดบ้านดอนมหาวันจะต้องตกอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำตลาดกาล
การพายเรือสำรวจไปถึงผาก้อนคำ และผาได ซึ่งบริเวณนี้มีเกาะแก่งสวยงาม และเป็นนิเวศบ้างของปลาและสัตว์น้ำ ที่วางไข่ของนก จำนวนมากในฤดูแล้ง หินก้อนใหญ่มันวาวผ่านการขัดสีของน้ำมายาวนาน บางจุดมีรอยขี้นกสีขาวเกลื่อนหิน ระหว่างพายเรือยังมีปลากกระโดดให้เห็นเหนือผิวน้ำ
เช้าวันสุดท้ายท้องฟ้าครึ้มทำให้ไม่เห็นร่องรอยของนกมากนัก แต่การสำรวจในบริเวณนี้ก่อนหน้านั้น เราได้เห็นนกฝูงใหญ่อยู่ตามหาด และจะพบเห็นมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นฤดูกาลวางไข่

ขณะที่ริมแม่น้ำโขงในช่วงอำเภอเวียงแก่น เราสังเกตได้ว่ามีการขุดหินจากภูเขา และมีการระเบิดหิน ส่งผลกระทบจากแรงอัดกระแทกอากาศการระเบิด มีชาวบ้านบางส่วนร้องไปยัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงความเสียหาย บางครั้งทำให้บานกระจกอาคารบ้านเรือนฝั่งไทยที่อยู่ริมฝั่งแตกและร้าว
เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนการก่อสร้างที่มีขึ้นทั้งสองฝั่ง ในขณะนี้ ทั้งเรื่องถนนหนทางทาง โครงสร้างพื้นฐาน การถมที่เพื่อการสร้างอาคารสถานที่ เนื่องจากเมืองได้ขยาย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษต้นผึ้งเกิดขึ้นมาก ส่วนฝั่งไทยกำลังมีการสร้างเส้นทางรถไฟ และการขยายถนน เช่นกันที่ต้องใช้หิน ดิน ทรายจำนวนมาก
แม่น้ำโขงผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ชุมชนในภูมิภาคนี้ต่างสร้างบ้านแปงเมืองด้วยความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำโขงจนกลายเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกเกิดขึ้นมากมาย แต่วันนี้สายน้ำที่เป็นผู้ให้ของสรรพชีวิตกำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายเนื่องจากฝีมือมนุษย์ที่ไม่สนใจสมดุลธรรมชาติที่ทำลายอย่างไม่บันยะบันยัง และการบริหารจัดการตามอำนาจโดยไม่สนใจผู้ได้รับผลกระทบ
การล่องเรือคายัคอย่างเงียบเชียบ ทำให้ได้ยินเสียงแม่น้ำโขงและนิเวศโดยรอบชัดเจนขึ้น การจดบันทึกเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งที่พวกเราต้องทำก่อนจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง ชนิดที่ยากที่จะเรียกร้องความสมดุลกับคืนได้ เป็นอีกหมุดหมายส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้หาวิธีรับมือและหนทางแก้ไขปัญหาและผลกระทบในวันข้างหน้า
—————