เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่ผึ้ง หมู่ 5 ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง (สอจ.ลำปาง) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีบริษัท ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวงในพื้นที่บ้านแม่เลียง หมู่ 7 ต.เสริมขวา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้ามีชาวบ้านชุมนุมคัดค้านประมาณ 150 คน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้จัดพื้นที่และเตรียมการดูแลความเรียบร้อย ในขณะที่ชาวบ้านหมู่ที่ 5,6 และ 7 ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ขอประทานบัตร เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นประมาณ 150 คน
น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 4 จ.ลำปาง พรรคประชาชน กล่าวว่า รับฟังเสียงของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเป็นความเห็นต่างของชาวบ้านในพื้นที่ โดยมอง พ.ร.บ.แร่ 2560 ว่าเหมือนกฎหมายศรีธนญชัย ซึ่งต้องนำไปผลักดันในการประชุมรัฐสภาต่อไป
“ที่จะดำเนินการหลังจากนี้ก็คือติดตามจากอุตสาหกรรมจังหวัดถึงรายงานและบันทึกประชุมรับฟังความคิดเห็นว่าข้อเสนอต่างๆที่ทุกคนเสนอไปถูกบันทึกครบถ้วนหรือไม่ แล้วเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายนอกได้ถูกบันทึกไหม” ส.ส.เขต 4 จ.ลำปาง กล่าว
น.ส.รภัสสรณ์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้านนอกเวทีรับฟังความคิดเห็นมีกลุ่มคนจำนวนมาก หลายคนอยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือหมู่บ้านใกล้เคียง มีการใช้ไมโครโฟนที่ลำโพงอยู่ใกล้กันทำให้สื่อสารไม่ค่อยเข้าใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกั้นพื้นที่ไม่ให้เข้าไปก่อกวนในส่วนของเวทีรับฟังเลยอาจทำให้มองว่าเป็นการกีดกัน เกิดความไม่พอใจขึ้น ทางอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง นายอำเภอเสริมงาม และตน จึงได้ออกไปรับหนังสือข้อเรียกร้อง
“มองเรื่องนี้ว่าเป็นความเห็นต่างของคนในพื้นที่ ซึ่งเวทีรับฟังกำหนดเขตมาเฉพาะหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 3 หมู่บ้าน คือแม่ผึ้ง แม่เลียง และแม่เลียงพัฒนา ชาวบ้านในอำเภอเสริมงามก็มองว่าผลกระทบไม่ได้เกิดแค่ 3 หมู่บ้าน เพราะแม่เลียงเป็นแม่น้ำสายหลักและอยู่ต้นน้ำ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็ตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กระทบตามมาทั้งฝุ่นควันมันกระทบกับความเป็นอยู่ของคนเสริมงาม บางส่วนที่เสียงเขาไม่ได้ถูกรับฟังมันก็เป็นข้อถกเถียงกัน” ส.ส.พรรคประชาชน กล่าว
น.ส.รภัสสรณ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการขอประทานบัตรของบริษัท ที่มี พรบ.แร่ 2560 กำกับอยู่ เป็นเหมือนกฎหมายศรีธนญชัย ที่กำหนดขั้นตอนหลักการดำเนินงาน สุดท้ายก็ต้องเชิญนักวิชาการไปสำรวจแร่ว่ามีจำนวนพอไหม ตรงกับที่ขอประทานบัตรหรือไม่ แล้วจัดทำ EIA
“ซึ่งถ้ากระบวนการนี้ไม่ผ่านก็หมายความว่าทางบริษัทได้ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว เราเลยไม่ค่อยเข้าใจว่าถ้าไม่ผ่านมันก็ควรจะหยุดเลย แต่เขาต้องไปทำ EIA อีก แล้วคณะกรรมการจากหลายๆกระทรวงต้องไปนั่งพิจารณาผลกระทบทุกแง่มุมเป็นเรื่องอะไรบ้าง ข้อคิดเห็นส่วนตัวของมิ้งคือแล้วการลงมติการเห็นชอบให้ประทานบัตร สุดท้ายมันจำกัดอยู่กับคนเพียง 10-20 คนแค่นี้หรือ ถ้าเห็นว่าข้อกังวลของประชาชนไม่มีน้ำหนักมากพอ เราตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเป็นแบบนี้ประชาชนสามารถอุทธรณ์หรือดำเนินการอย่างไรได้บ้าง”สส.พรรคประชาชน กล่าว
ด้านว่าที่ร้อยตรีอดิศักดิ์ ดวงจินดา นานอำเภอเสริมงาม กล่าวว่า การดูแลความสงบเรียบร้อยในเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ประสานให้ทาง สภ.เสริมงาม ร่วมกับ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. และชรบ.หมู่บ้าน เข้ามาดูแลอย่างดี ส่วนเวทีรับฟังคสามคิดเห็นนี้เป็นการดำเนินงานตามกฎหมายของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่คงจะใช้เวลาอีกนาน
นายอำนวย ใจลังก๋า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนผลการแสดงความคิดเห็นของชาวบ้าน หากออกมามีข้อสรุปว่าไม่เอาเหมืองแร่ ซึ่งการจัดเวทีความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ได้ไปเข้าร่วมเพราะไม่อยากถูกชาวบ้านด่า
“พูดกันตรงๆว่าถ้าชาวบ้านไม่เอา ผมก็ต้องไม่เอาเหมือนกับชาวบ้าน ตอนนี้ไปคุยกับฝั่งไหนไม่ได้เลย คุยกับอุตสาหกรรมจังหวัดทางชาวบ้านก็ด่า คุยกับชาวบ้านทางอุตสาหกรรมก็กดดัน สำหรับผมแล้วผมเกรงใจชาวบ้าน วันนี้ผมเลยไม่อยากไปเข้าร่วม คิดว่าถ้าไปก็คงโดนชาวบ้านด่า ไม่ไปดีกว่า” นายก อบต.เสริมขวา กล่าว
หนึ่งในกรรมการบริษัท ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด ผู้ประกอบการที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่พลวง กล่าวว่า หลังจากนี้ทาง สอจ.ลำปาง จะทำการรายงานผลความคิดเห็นแล้วเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ชาวบ้านมีคำถามที่ทางบริษัทก็ได้ตอบข้อสงสัยทุกประเด็น“อุตสาหกรรมจังหวัดจะทำรายงานอย่างละเอียดถึงปัญหาที่ชาวบ้านซักถาม ฟังการชี้แจงจากบริษัทแล้วชาวบ้านมีความเห็นอย่างไร มีคนเข้าร่วมเท่าไร ผู้คัดค้านกี่คน ก่อนจะปิดประกาศในที่เปิดเผยสาธารณะรวมถึงส่งไปให้ผู้ที่อำนาจหน้าที่พิจารณาต่อไป และเมื่อผลการรายงานออกมาแล้วทางบริษัทก็จะเข้าไปคุยกับ สอจ.ลำปาง อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เอาผลการรับฟังความคิดเห็นมาคุยร่วมกันเพื่อสรุปว่าจะไปในทิศทางไหน” ตัวแทนกรรมการบริษัท กล่าว
“อุตสาหกรรมจังหวัดจะทำรายงานอย่างละเอียดถึงปัญหาที่ชาวบ้านซักถาม ฟังการชี้แจงจากบริษัทแล้วชาวบ้านมีความเห็นอย่างไร มีคนเข้าร่วมเท่าไร ผู้คัดค้านกี่คน ก่อนจะปิดประกาศในที่เปิดเผยสาธารณะรวมถึงส่งไปให้ผู้ที่อำนาจหน้าที่พิจารณาต่อไป และเมื่อผลการรายงานออกมาแล้วทางบริษัทก็จะเข้าไปคุยกับ สอจ.ลำปาง อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เอาผลการรับฟังความคิดเห็นมาคุยร่วมกันเพื่อสรุปว่าจะไปในทิศทางไหน” ตัวแทนกรรมการบริษัท กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.