
เมื่อเดือนที่แล้วเธอกลับไปเยี่ยมพี่สาวที่บ้านบางกลอย-โป่งลึกเสียหลายวัน ทำให้รายได้ทั้งเดือนลดลงเหลือแค่ 6,000 กว่าบาท ตามราคาค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินทั้งหมดครึ่งหนึ่งเธอเอาไปให้พี่สาวที่กำลังเจ็บออดๆแอดๆภายหลังจากคลอดลูกแฝด 2 คน
กิจวัตรของ “เมย์”เป็นเช่นนี้มานานหลายปีแล้ว คือแต่ละเดือนต้องมุ่งหาเงินส่งกลับไปจุนเจือพี่สาวและครอบครัวที่ยังอยู่ในดงลึก ขณะที่พี่น้องทั้ง 5 คนต้องแตกกระสานซ่านเซ็นและต้องกระจัดกระจายกันไปหางานทำ เพื่อความอยู่รอด นับตั้งแต่เธอและชาวบ้านถูกบังคับให้ย้ายจากป่าต้นแม่น้ำเพชรมาอยู่บ้านโป่งลึก หรือบางกลอยล่าง
“เมย์” ใช้ชีวิตในวัยเด็กเติบโตมากับป่าใหญ่และเขาสูงที่บ้านบางกลอยบน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชาวกะเหรี่ยงอาศัยกันมานมนาน จนกระทั่งอายุ 11 ปี เธอต้องย้ายตามครอบครัวลงมาอยู่ในพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดให้ที่โป่งลึก
“มันอยู่ไม่ได้หรอกที่นั่น(โป่งลึก) น้ำก็ไม่มี ที่ดินก็ไม่มี ที่ดินนิดหน่อยที่เขาแบ่งให้ปลูกอะไรก็ไม่งาม ปลูกข้าวไม่พอกิน ไม่เหมือนข้างบนที่เราเคยอยู่มาตั้งแต่เกิด ที่นั่น(บางกลอยบน)ปลูกอะไรก็งาม ปลูกข้าวก็พอกิน” น้ำเสียงของเมย์ดูเบิกบานเมื่อพูดถึงหมู่บ้านเดิมซึ่งอยู่ในป่าใหญ่เพราะที่นั่นคือ “ใจแผ่นดิน” ของชาวกะเหรี่ยง
เมย์เป็นหลานสาวคนหนึ่งของปู่คออี้ ผู้เฒ่าอายุกว่าร้อยปีที่นอนน้ำตาตกอยู่ทุกค่ำคืนเพราะเพราะอยากกลับไปตายที่บ้านเกิดที่บ้านป่า หลังจากถูกบังคับให้ย้ายมาอยู่โป่งลึกพร้อมชาวบ้าน เธอยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ “บิลลี่”หนุ่มนักสู้ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกทำให้หายตัวไป

หลังจากถูกบังคับให้ย้ายจากต้นแม่น้ำเพชรมาอยู่ที่บ้านโป่งลึกอยู่พักใหญ่ ชาวบ้านจำนวนมากต่างต้องออกไปรับจ้างในเมืองใหญ่ เพราะหากรอคอยความหวังลมๆแล้งๆ ตามคำชวนเชื่อของหน่วยงานรัฐและอีกหลายคนมีหวังต้องอดตาย
พี่ชายของเมย์ก็เช่นกัน ต่างแยกย้ายกันไปทำงาน เหลือเพียงพี่สาวคนโตและพี่สาวคนกลางที่ยังอยู่ในหมู่บ้านโป่งลึกเพราะต้องเลี้ยงดูลูกๆ ขณะที่เธอตามพี่ชายไปทำงานที่เมืองหัวหิน จังหวัดประจวบฯ ตั้งแต่เรียนกศน.จบป.4 และย้ายไปทำงานแห่งใหม่แถวชานเมืองกรุงเทพฯ
“ต้องหากินไปวันๆ ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงินส่งไปให้พี่สาวซื้อข้าว ซื้อนม” เมย์พูดถึงพี่สาวคนโต-นางแซกูมึ ด้วยความห่วงใย เพราะตั้งแต่นางคลอดลูกคนสุดท้องซึ่งเป็นฝาแฝดเมื่อ 7 เดือนก่อน นางก็ยังรู้สึกเจ็บแผลที่ผ่าเรื่อยมาจนทำงานแทบไม่ไหว ครั้นจะลงมาหาหมอที่โรงพยาบาลเดิมก็ไม่มีเงิน “สงสารพี่สาวและหลานๆ กลัวไม่มีอะไรกิน เดือนที่แล้วให้เงินไปแค่ 3 พัน ไม่รู้พอกินกันหรือเปล่า เราเองก็ต้องเลี้ยงลูก 1 คน”

พี่สาวคนโตของเมย์มีลูก 7 คน โดยลูกคนโตอายุ 13 ปี สมัยก่อนที่อยู่บ้านบางกลอยบน ทั้งหมดอยู่กันอย่างมีความสุขเพราะทำไร่มีข้าวมีอาหารและมีระบบเครือญาติรองรับ ต่อมาเมื่อหมู่บ้านและยุ้งฉางถูกเผาโดยฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ และบังคับให้อพยพมาลงมา ความสุขต่างๆที่เคยมีก็อันตรธานไปแทบไม่เหลือ
“ตอนนี้พี่สาวทำงานรับจ้างทอผ้าวันละ 80 บาท แต่ก็ทำไม่ค่อยไหว พี่เขยก็พยายามหาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ไม่ค่อยมีงาน ตอนหลังเลยเกิดปากเสียงกันบ่อย พี่สาวมักบ่นว่าเมื่อไหร่จะตายซะที จะได้พ้นๆ ไป ข้าวที่คนเคยบริจาคให้ก็หมดไปตั้งนานแล้ว” เมย์เล่าถึงความเครียดที่เกิดขึ้นในหมู่เครือญาติชาวบางกลอย
ข้าวบริจาคที่เมย์พูดถึง คือข้าวเปลือกที่ชาวกะเหรี่ยงทั่วประเทศร่วมกันรวบรวมส่งมาให้ ซึ่งเมื่อปีก่อน “บิลลี่” ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญอยู่ ก่อนจะถูกอุ้มหายไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ขณะที่ข้าวหลายตันถูกแบ่งจ่ายให้ชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัวหมดไปในเวลาไม่นาน ชาวบ้านจึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันไปวันๆ
ที่ผ่านมาบางหน่วยงานพยายามหาทางออกให้ชาวบ้าน เช่น ทำนาขั้นบันได ฝึกอาชีพต่างๆ แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงคือการบังคับคนกลุ่มใหญ่ให้มาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยและไม่มีความพร้อม
“ถ้าเขาให้หนูกลับไปอยู่บ้านเดิมที่บางกลอยบนก็จะมีความสุขมาก เพราะอยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนที่นั่น ทุกวันนี้ทุกคนต่างเครียดเพราะไม่มีจะกิน จึงต้องดิ้นรนไปวันๆ” ความฝันและความหวังอันสูงสุดของเมย์ก็คือดาวดวงเดียวกันของปู่คออี้ บิลลี่ และชาวบ้านบางกลอยส่วนใหญ่
วันที่ 17 เมษายน 2558 เป็นวันครบ 1 ปีที่บิลลี่ถูกบังคับให้หายตัวไป ขณะที่ความโหดร้ายทารุณยังคงเกิดขึ้นกับชาวบ้านบางกลอยหนักหน่วงขึ้นทุกวัน
บ้านแตกสาแหรกขาด ความอดอยาก ความตาย มิใช่สิ่งที่พวกเขาร้องขอ แต่เป็นการถูกยัดเยียด ยิ่งวันครอบครัว ยิ่งไม่ต้องถามถึง เพราะมันจมหายไปบนป่าผืนใหญ่ตั้งแต่ถูกบีบบังคับให้ย้ายลงมา
เราได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่ง จะได้เป็น “วันครอบครัว” ของเมย์ และชาวบางกลอย
————–
อนึ่งวันที่ 17 เมษายนครบ 1 ปีการหายตัวไปของบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ หลายเครือข่ายร่วมกันจัดงานรำลึกถึงเขาขึ้นที่ด่านมะเร็ว อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่พบบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายภายใต้การจับกุมของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
โดย ภาสกร จำลองราช